รางวัลผลงานวิจัยดีเด่น
        
          จากความร่วมมืออันดี ระหว่าง วิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ เทศบาลเมืองทุ่งสง และเทศบาลตำบลชะมาย อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ผ่านการร่วมทำวิจัยเชิงพื้นที่ และการบริการวิชาการ ทำให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว ถือว่าเป็นการสร้างนวัตกรรมสังคมอีกอย่างหนึ่ง ที่ก่อเกิดผลประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน อันส่งผลต่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
       ในการนี้ เทศบาลเมืองทุ่งสง และเทศบาลตำบลชะมาย จึงขอมอบเกียรติบัตรให้กับบุคลากรของวิทยาลัยเทคโนโลยีภาคใต้ เพื่อยกย่อง เชิดชูเกียรติ และสร้างขวัญกำลังใจ ที่ได้ร่วมกันพัฒนางานในพื้นที่ตลอดมา ตัวอย่างผลงาน ได้แก่

การดำเนินการร่วมกับเทศบาลเมืองทุ่งสง

คณะที่ 1 ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.สรรค์นันธ์ ตันติอุโฆษกุล อัครวงศ์ อาจารย์ ดร.พวงรัตน์ จินพล อาจารย์ ดร.สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์ อาจารย์ ดร.มุกดาวรรณ พลเดช อาจารย์นันทวุฒิ วงศ์เมฆ และอาจารย์รัฐศวรรธน์ กิ่งแก้ว
ได้ร่วมดำเนินชุดโครงการวิจัย เรื่อง “สถานภาพ ความตระหนัก และบริการสำหรับผู้สูงอายุ เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” เป็นการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุทุกคนที่มีภูมิลำเนาในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง และอาศัยอยู่ในห้วงเวลาที่เก็บข้อมูล โดยมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
        1. เทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ข้อมูลของผู้สูงอายุ เกี่ยวกับ 1) รายได้ รายจ่าย หนี้สิน และการออมของผู้สูงอายุ 2) ความต้องการของผู้สูงอายุตามาตรฐานการสงเคราะห์ผู้สูงอายุ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น 3) การรับรู้สิทธิของผู้สูงอายุตาม พระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ.2546 4) ภาวะสุขภาพของผู้สูงอายุเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ และ 5) ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ
        2. เทศบาลเมืองทุ่งสง ได้ข้อมูลในการจัดทำแผนพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะด้านคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ที่ตอบสนองความต้องการ และแก้ไขปัญหาให้กับผู้สูงอายุได้อย่างแท้จริง
       3. เกิดนวัตกรรมสังคมอย่างแท้จริงในการดูแลคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ
คณะที่ 2 ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์ อาจารย์อัสมา พิมพ์ประพันธ์ และอาจารย์เสาวรัตน์ บุษรานนท์
ได้ร่วมดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “หลักสูตรสร้างเสริมภาวะคนสูงวัย เทศบาลเมืองทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช” โดยมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
       1. เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุที่มาจากการวิจัย ภายใต้ชื่อ “ศูนย์สร้างสุข (ศสส.)” ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมสังคม และได้ดำเนินการเรื่อยมาตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน
       2. มีหลักสูตรสร้างเสริมสุขภาวะสำหรับผู้สูงอายุที่สอดคล้องกับผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสงอย่างแท้จริง และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์
      3. มีผู้สูงอายุในเขตเทศบาลเมืองทุ่งสง เข้าร่วมไม่น้อยกว่า 300 คน
      4. ศูนย์สร้างสุข (ศสส.) เป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งในอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง เช่น เทศบาลเมืองระนอง เป็นต้น 
        และร่วมเป็นคณะกรรมการประชาคมวัฒนธรรมเมืองทุ่งสง ขับเคลื่อนการดำเนินงานของ “หลาดชุมทางทุ่งสง” ซึ่งเป็นตลาดวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการวิจัยเชิงบูรณาการสหวิชาการ และยังเป็นวิทยากรร่วมให้บริการวิชาการกับกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ของเทศบาลเมืองทุ่งสง อย่างต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบัน

การดำเนินการร่วมกับเทศบาลตำบลชะมาย

คณะที่ 1 ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.พวงรัตน์ จินพล อาจารย์ ดร.จุฑาภรณ์ ลิ่มสุวรรณมณี และอาจารย์มานิตา เจือบุญ
ได้ร่วมดำเนินชุดโครงการวิจัย เรื่อง “ระบบดูแลผู้สูงอายุด้านโภชนาการเพื่อสนับสนุนการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่เทศบาลตำบลชะมาย จังหวัดนครศรีธรรมราช” เป็นการพัฒนาระบบดูแลผู้สูงอายุด้านโภชนาการที่นำเอาศาสตร์ความรู้ด้านโภชนาการ มาบูรณาการร่วมกับเทคโนโลยี ทำให้สามารถรับรู้ข้อมูลเชิงประเด็นและเชิงพื้นที่ เพื่อการจัดทำนโยบายในการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่อง โดยมีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
        1. เทศบาลตำบลชะมายได้ข้อมูลภาวะโภชนาการและแบบแผนการบริโภคอาหารในผู้สูงอายุ จำนวน 322 คน
        2. เทศบาลตำบลชะมาย ได้ ระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลผู้สูงอายุด้านโภชนาการ และ โมบายแอปพลิเคชันโมบายแอปพลิเคชัน “กินไงวัยเก๋า”
        3. ประชาชนในพื้นที่เทศบาลตำบลชะมายได้ ความรู้เรื่องการประเมินภาวะโภชนาการ การใช้งานระบบสารสนเทศเพื่อการดูแลผู้สูงอายุด้านโภชนาการ และการใช้งานโมบายแอปพลิเคชัน “กินไงวัยเก๋า”
        นอกจากนี้ บุคลากรทั้ง 3 ท่าน ร่วมกับ อาจารย์ ดร ดร.สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์ ยังร่วมดำเนินชุดโครงการวิจัย เรื่อง “ระบบสร้างเสริมสุขภาพชุมชน สู่การเป็นชุมชนสุขภาวะ เพื่อให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี พื้นที่เทศบาลตำบลชะมาย จังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ เป็นการดำเนินการต่อยอดในปีที่ 2 ของชุดโครงการวิจัยแรก โดยมีการเพิ่มเติมในเรื่องการทำตัวชี้วัดชุมชนสุขภาวะ เพื่อให้ชุมชนได้ทราบสถานะปัจจุบัน นำไปสู่การปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ มีผลลัพธ์ที่คาดว่าจะได้รับ ดังนี้
         1. เทศบาลตำบลชะมาย ได้ต้นแบบการประเมินภาวะโภชนาการ และตำรับอาหารสุขภาพพื้นบ้านตามสภาวะร่างกายของผู้สูงอายุ และพฤติกรรมส่วนบุคคล ตัวชี้วัดสุขภาวะชุมชน และระบบสารสนเทศสุขภาวะชุมชน เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการสร้างเสริมสุขภาพของคนในชุมชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี
        2. ผู้สูงอายุในพื้นที่เทศบาลตำบลชะมาย มีแนวทางการปรับปรุงภาวะโภชนาการที่ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยใช้ตำรับอาหารของพื้นถิ่น บนฐานเศรษฐกิจพอเพียง คนในชุมชนทราบสถานะความอยู่ดีมีสุขของตนเองและชุมชน จากตัวชี้วัดที่สร้างขึ้นแบบมีส่วนร่วมตามบริบทของชุมชน และสามารถใช้ระบบสารสนเทศสุขภาวะชุมชนเพื่อสนับสนุนการตัดสินใจในการสร้างเสริมสุขภาพของคนในชุมชน นำไปสู่การพัฒนาสุขภาวะชุมชนอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนในชุมชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี
        3. เทศบาลตำบลชะมาย ได้ทราบพิกัดบ้านผู้สูงอายุที่มีภาวะโภชนาการในด้านต่าง ๆ ที่อยู่ในพื้นที่จากระบบสารสนเทศ

คณะที่ 2 ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์ อาจารย์อัสมา พิมพ์ประพันธ์ และอาจารย์เสาวรัตน์ บุษรานนท์
ได้ร่วมดำเนินโครงการวิจัยเรื่อง “รูปแบบการจัดการศึกษาที่มีประสิทธิผลสำหรับผู้สูงอายุไทยในจังหวัดนครศรีธรรมราช” ซึ่งเป็นการออกแบบการจัดการศึกษาสำหรับผู้สูงอายุ โดยเลือกพื้นที่เทศบาลตำบลชะมาย มีผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ดังนี้
        1. เกิดโรงเรียนผู้สูงอายุที่มาจากการวิจัย ภายใต้ชื่อ “รีสอร์ทผู้สูงอายุ” ซึ่งถือว่าเป็นนวัตกรรมสังคม และได้ดำเนินการเรื่องมาตั้งแต่ปี 2559 จนถึงปัจจุบัน รวม 5 รุ่น
        2. จากการมีโรงเรียนผู้สูงอายุที่เข้มแข็ง เทศบาลตำบลชะมายได้รับการจัดสรรงบประมาณจาก พมจ พมจ.นครศรีธรรมราช จำนวน 1 ล้านบาท ในการจัดสร้างอาคารศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตและส่งเสริมอาชีพผู้สูงอายุ
       3. จากการดำเนินงานโรงเรียนผู้สูงอายุ ส่งผลให้มหาวิทยาลัยมหิดล คัดเลือกผู้สูงอายุจากรีสอร์ทผู้สูงอายุ เข้าร่วมโครงการ “สูงวัยไม่เสพสื่ออย่างสุ่มเสี่ยง สร้างนักสื่อสารที่มีสุขภาวะที่รู้เท่าทันสื่อและสารสนเทศ” ซึ่งเป็นเพียงแห่งเดียวในภาคใต้
        4. รีสอร์ทผู้สูงอายุ เป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ ทั้งในอำเภอและพื้นที่ใกล้เคียง

         นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.สุดารัตน์ สุดสมบูรณ์ ยังร่วมเป็นคณะกรรมการในชุดต่าง ๆ ของการดำเนินงานของเทศบาลตำบลชะมาย เช่น คณะกรรมการติดตามและประเมินผลฯ และบุคลากรทั้งสองคณะ ยังร่วมเป็นวิทยากรและให้บริการวิชาการในพื้นที่อย่างต่อเนื่องเรื่อยมา